วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แบนดูร่า


  
ทฤษฎีการเรียนรู้ของ bandur
การเรียนรู้พฤติกรรมจากตัวแบบ ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา (Social Cognitive Learning Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีของศาสตราจารย์บันดูรา แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) ประเทศสหรัฐอเมริกา บันดูรามีความเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตหรือการเลียนแบบ (Bandura 1963) จึงเรียกการเรียนรู้จากการสังเกตว่า การเรียนรู้โดยการสังเกตหรือ การเลียนแบบและเนื่องจากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวอยู่เสมอ บันดูราอธิบายว่าการเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมในสังคม ซึ่งทั้งผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อกันและกัน
การเรียนรู้พฤติกรรมสำคัญต่าง ๆ ทั้งที่เสริมสร้างสังคม (Prosocial Behavior) และพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม (Antisocial Behavior) ได้เน้นความสำคัญของการเรียนรู้แบบการสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งตัวบุคคลจริง ๆ เช่น ครู เพื่อน หรือจากภาพยนตร์โทรทัศน์ การ์ตูน หรือจากการอ่านจากหนังสือได้ การเรียนรู้โดยการสังเกตประกอบด้วย 2 ขั้น คือ ขั้นการรับมาซึ่งการเรียนรู้เป็นกระบวนการทางพุทธิปัญญา และขั้นการกระทำ ตัวแบบที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลมีทั้งตัวแบบในชีวิตจริงและตัวแบบที่เป็นสัญญลักษณ์ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในครอบครัว โรงเรียน สถาบันการศึกษา และผู้นำในสังคมประเทศชาติและศิลปิน ดารา บุคคลสาธารณะ ยิ่งต้องตระหนักในการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เพราะย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของเยาวชนในสังคมนั้น ๆ
จากทฤษฎีของบันดูรา  จริงอยู่ที่มนุษย์ส่วนมากเรียนรู้ได้ด้วยการสังเกตหรือการเลียนแบบ เพราะถ้าเราไม่สังเกตไม่คิดเราจะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร และถ้าเราไม่รู้จักเลียนแบบสิ่งแวดล้อมหรือทำตามกฎเกณฑ์ในสังคมเราจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร ฉะนั้นการสังเกตและการเลียนแบบสำคัญมากต่อการเรียนรู้
  

ออซูเบล




ทฤษฎีของออซูเบล
1.  ออซูเบล (Ausubel , David 1963) เป็นนักจิตวิทยาแนวปัญญานิยม
ทฤษฎีของออซูเบลเป็นทฤษฎีที่หาหลักการอธิบายการเรียนรู้ที่เรียกว่า "Meaningful Verbal Learning" โดยเฉพาะ การเชื่อมโยงความรู้ที่ปรากฎในหนังสือที่โรงเรียนใช้กับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียน ในโครงสร้างสติปัญญา(Cognitive Structure) หรือการสอนโดยวิธีการให้ข้อมูลข่าวสาร ด้วยถ้อยคำทฤษฎีของออซูเบล เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจทฤษฎีของออซูเบลบางครั้งเรียกว่า "Subsumption Theory"  

2.  ทฤษฎีกลุ่มพุทธิปัญญา (Cognitivism)
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 นักทฤษฎีการเรียนรู้เริ่มตระหนักว่า การที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องผ่านการพิจารณา ไตร่ตรอง การคิด (Thinking) เช่นเดียวกับพฤติกรรม และควรเริ่มสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในทรรศนะของ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด(Mental change) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ดังนั้นจึงมี การเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากความสนใจเกี่ยวกับสิ่งเร้ากับการตอบสนอง

3.   กลุ่มพุทธิปัญญา (Cognitivism)   
กลุ่มพุทธิปัญญา ให้ความสนใจเกี่ยวกับกระบวนการคิด การให้เหตุผลของผู้เรียน ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ที่มุ่งเน้นพฤติกรรมที่สังเกตได้เท่านั้น โดยมิได้สนใจกับกระบวนการคิดหรือกิจกรรมทางสติปัญญาของมนุษย์

4.  การเรียนรู้อย่างมีความหมาย
คือ ผู้เรียนได้เชื่อมโยง (Subsumme) สิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใหม่ กับความรู้เดิมที่มีมาก่อนที่มีในโครงสร้างในสติปัญญาของผู้เรียนมาแล้ว

        ออซูเบลให้ความหมายการเรียนรู้อย่างมีความหมาย( Mearningful learning) ว่า เป็นการเรียนที่ผู้เรียนได้รับมาจากการที่ผู้สอน อธิบายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ทราบและผู้เรียนรับฟังด้วยความเข้าใจ โดยผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียนรู้กับโครงสร้างพุทธิปัญญาที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ และจะสามารถนำมาใช้ในอนาคต ออซูเบลได้ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะอธิบายเกี่ยวกับพุทธิปัญญา   

5.  ประเภทของการเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย 
        1. Subordinate learning   

            1.1 Deriveration Subsumption เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ใหม่กับหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่เคยเรียนมาแล้ว โดยการได้รับข้อมูลมาเพิ่ม เช่น มีคนบอก      
1.2 Correlative subsumption เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายเกิดจากการขยายความ หรือปรับโครงสร้างทางสติปัญญาที่มีมาก่อนให้สัมพันธ์กับสิ่งที่จะเรียนรู้ใหม่
2. Superordinate learning เป็นการเรียนรู้โดยการอนุมาน โดยการจัดกลุ่มสิ่งที่เรียนใหม่เข้ากับความคิดรวบยอดที่กว้างและครอบคลุมความคิดยอดของสิ่งที่เรียนใหม่
3. Combinatorial learning เป็นการเรียนรู้หลักการ กฎเกณฑ์ต่างๆเชิงผสม ในวิชาคณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ โดยการใช้เหตุผล หรือการสังเกต

6.  เทคนิคการสอน
ออซูเบลได้เสนอแนะเกี่ยวกับ Advance organizer  เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจากการสอนหรือบรรยายของครู โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีมาก่อนกับข้อมูลใหม่ หรือความคิดรวบยอดใหม่ ที่จะต้องเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ไม่ต้องท่องจำ หลักการทั่วไปที่นำมาใช้ คือ      
-  การจัด เรียบเรียง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้เรียนรู้ ออกเป็นหมวดหมู่
-   นำเสนอกรอบ หลักการกว้างๆ ก่อนที่จะให้เรียนรู้ในเรื่องใหม่
-  แบ่งบทเรียนเป็นหัวข้อที่สำคัญ และบอกให้ทราบเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญ

7.   สรุปได้ว่า การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Mearningful learning)
ออซูเบล เป็นทฤษฎีกลุ่มพุทธิปัญญา เน้นความสำคัญของผู้เรียน ออซูเบลจะสนับสนุนทั้ง Discovery และ Expository technique ซึ่งเป็นการสอนที่ครูให้หลักเกณฑ์ และผลลัพธ์ ออซูเบลมีความเห็นว่าสำหรับเด็กโต (อายุเกิน11หรือ 12 ปี)นั้น การจัดการเรียนการสอนแบบ Expository technique น่าจะเหมาะสมกว่าเพราะเด็กวัยนี้สามารถเข้าใจเรื่องราว คำอธิบายต่างๆได้ 

  

เกสตัลท์



ทฤษฎีการเรียนรู้ของเกสตัลท์
                ทฤษฎีการเรียนรู้ของกลุ่มเกสตัลท์กลุ่มนี้เกิดจากนักจิตวิทยาชาวเยอรมันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912 ได้ชื่อว่า กลุ่มจิตวิทยาส่วนร่วมคำว่า “Gestalt” หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดหรือโครงสร้างทั้งหมด (totality หรือ configuration) กลุ่มเกสตัลท์นิยมเกิดสมัยเดียวกับกลุ่มพฤติกรรมนิยม กลุ่มเกสตัลท์นิยมเกิดในเยอรมัน กลุ่มพฤติกรรมนิยม เกิดในอเมริกา กลุ่มนี้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ปัญญานิยม”(cognitivism) ผู้นำกลุ่มที่สำคัญ คือ เวอร์ธไฮเมอร์ (Max Wertheimer, 1880 – 1943) คอฟฟ์กา (Koffka) และเลวิน (Lewin)และโคเลอร์ (Wolfgang Kohler, 1886 – 1941)ทั้งกลุ่มมีแนวความคิดว่า การเรียนรู้เกิดจากการจัดประสบการณ์ทั้งหลายที่อยู่กระจัดกระจายให้มารวมกันเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาส่วนย่อยต่อไป
กลุ่มเกสตัลท์นิยมเชื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นพฤติกรรมบูรณาการ (integrated behavior) การศึกษาพฤติกรรมต้อง ศึกษาลักษณะของบุคคลเป็นส่วนรวมจะแยกศึกษาทีละส่วนไม่ได้ เพราะส่วนรวมก็คือส่วนรวม มีคุณค่าหรือคุณสมบัติต่างไปจาก ผลบวกของส่วนย่อย ๆ รวมกัน เช่น บ้านย่อมมีคุณค่า มีความหมาย มีคุณสมบัติที่มากกว่าการเอาเสา เอากระดานพื้น กระดาน ตามประตูหน้าต่าง หลังค่า ฯลฯ มาต่อรวมเข้าด้วยกัน หรือตัวอย่างในรูปพฤติกรรม เช่น การแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม จะแสดงออกมาในรูปใด มักเนื่องมาจากคุณสมบัติโดยส่วนร่วมของคน ๆ นั้น โดยประสมประสานระหว่างความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะ หรือความสามารถในการกระทำ ฯลฯ ไม่ได้เกิดเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวและถึงแม้สิ่งเร้าของคนนั้น จะเป็นสิ่ง เดียวกัน แต่พฤติกรรมจะแตกต่างกันไปตามกาลเวลา ทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะ และความสามารถ เปลี่ยนไปจากเดิม
กลุ่มเกสตัลท์เน้นศึกษาพฤติกรรมการรับรู้ รวมทั้งการเรียนรู้จากปัญญาความคิด เห็นว่าการรับรู้เป็นพื้นฐานนำให้เกิด การเรียนรู้ และคนเรามีความสามารถในการรับรู้ต่างกัน ส่งผลให้เรียนรู้และกระทำแตกต่างกัน การจะรับรู้ให้เข้าใจได้ดีจะต้อง รับรู้โดยส่วนรวมเสียก่อน แล้วจึงศึกษาส่วนย่อย ๆ ของสิ่งนั้นทีละส่วนในภายหลัง และการเรียนรู้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งความสามารถในการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับความสามารถในการหยั่งเห็น (insight) การหยั่งเห็นเป็นการคิดช่องทาง แก้ปัญหา ได้ฉับพลันจากการพิจารณาสภาวะรอบด้าน ถ้าเกิดการหยั่งเห็นเมื่อใดก็จะแก้ปัญหาได้เมื่อนั้น เมื่อแก้ปัญหาได้ก็เกิดการเรียนรู้ ู้แล้ว ซึ่งจะเป็นไปได้ดีเพียงใดขึ้นกับการใช้ความคิด ความเข้าใจ หรือสติปัญญาของผู้นั้น แนวคิดของกลุ่มนี้ได้ชื่อว่า ปัญญานิยมเนื่องจากเห็นว่าการศึกษาพฤติกรรมต้องศึกษาจากกระบวนการรับรู้และการคิดในสมองซึ่งเป็นตัวสั่งการให้เกิดพฤติกรรม
การพัฒนาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวคิดของเกสตัลท์นิยมนั้น จะต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนความคิดก่อน รวมไปถึงการทำ ความเข้าใจและวินิจฉัยบุคคลที่จะต้องดูผู้นั้นเป็นส่วนรวม ต้องศึกษาเข้าในสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ เพื่อให้รู้จักผู้นั้นได้โดยแท้จริง รวมทั้งได้แนวทางเข้าใจบุคคลโดยพิจารณาที่โลกแห่งการรับรู้ของเขา เนื่องจากจะรับรู้ตามความคิดภายใน มากกว่ารับรู้โลกเชิง ภูมิศาสตร์ตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจการรับรู้ของใครก็ย่อมเข้าใจความคิดของผู้นั้นด้วย
กลุ่มเกสตัลท์ (Gestalt) เชื่อว่า  พฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้มีลักษณะของการสมยอมและเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ ตรงกันข้ามเมื่อมนุษย์พบสิ่งเร้า มนุษย์จะตีความแล้วจัดเสียใหม่ให้เป็นระบบและมีความหมาย ดังนั้นพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาจึงมิใช่การตอบสนองตามเงื่อนไขแต่เพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมที่แสดงออกได้สะท้อนให้เห็นถึงความคิด อารมณ์ และความรู้สึกภายในของมนุษย์ด้วย
            แนวคิดของกลุ่มเกสตัลท์มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักจิตวิทยาสังคมกลุ่มหนึ่งซึ่งเมื่อนำเอา แนวคิดนี้มาศึกษาพฤติกรรมมนุษย์แล้ว เสนอว่า มนุษย์มีธรรมชาติดังนี้ คือ
          1.1   เอาใจใส่ต่อสิ่งเร้าซึ่งมีลักษณะแปลกใหม่และซับซ้อน
          1.2   ต้องการความสอดคล้องกันระหว่างความรู้ความเข้าใจ
          1.3   ต้องการความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรง
          1.4   ต้องการแสวงหาความจริง
          1.5   ต้องการควบคุมสิ่งแวดล้อม
              นักจิตวิทยาสังคมกลุ่มนี้ได้ชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มที่มนุษย์ชอบและแสวงหา ความสอดคล้องกันระหว่างความรู้และความเข้าใจ จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่าความต้องการที่จะคิดอย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถจูงใจคนให้แสดงพฤติกรรมได้
กฎการเรียนรู้ของเกสตัลท์
            หลักการเรียนรู้ของทฤษฎี กลุ่มเกสตัลท์เน้นการเรียนรู้ที่ส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อย ซึ่งจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์และการเรียนรู้เกิดขึ้นจาก 2 ลักษณะคือ
            1. การรับรู้ (Perception) เป็นการแปรความหมายจากการสัมผัสด้วยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ส่วนคือ  หู ตา จมูก ลิ้นและผิวหนัง การรับรู้ทางสายตาจะประมาณร้อยละ 75 ของการรับรู้ทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มของเกสตัลท์จึงจัดระเบียบการรับรู้โดยแบ่งเป็นกฎ 4 ข้อ เรียกว่า กฎแห่งการจัดระเบียบ คือ
                        1.1 กฎแห่งความชัดเจน (Clearness) การเรียนรู้ที่ดีต้องมีความชัดเจนและแน่นอน เพราะผู้เรียนมีประสบการณ์เดิมแตกต่างกัน
                        1.2 กฎแห่งความคล้ายคลึง (Law of Similarity) เป็นการวางหลักการรับรู้ในสิ่งที่คล้ายคลึงกันเพื่อจะได้รู้ว่าสามารถจัดเข้ากลุ่มเดียวกัน
                        1.3 กฎแห่งความใกล้ชิด (Law of Proximity) เป็นการกล่างถึงว่าถ้าสิ่งใดหรือสถานการณ์ใดที่มีความใกล้ชิดกัน ผู้เรียนมีแนวโน้มที่จะรับรู้สิ่งนั้นไว้แบบเดียวกัน
                        1.4 กฎแห่งความต่อเนื่อง (Law of Continuity) สิ่งเร้าที่มีทิศทางในแนวเดียวกัน ซึ่งผู้เรียนจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
                        1.5 กฎแห่งความสมบูรณ์ (Law of Closer) สิ่งเร้าที่ขาดหายไปผู้เรียนสามารถรับรู้ให้เป็นภาพสมบูรณ์ได้โดยอาศัยประสบการณ์เดิม
2. การหยั่งเห็น (Insight) หมายถึง การเกิดความคิดแวบขึ้นมาทันทีทันใด ในขณะที่ประสบปัญหาโดยมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกเป็นขั้นตอนจนสามารถแก้ปัญหาได้ เป็นการมองเห็นสถานการณ์ในแนวทางใหม่ ๆ ขึ้น โดยเกิดจากความเข้าใจและความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ว่าได้ยินได้ค้นพบแล้ว ผู้เรียนจะมองเห็นช่องทางการแก้ปัญหาขึ้นได้ในทันทีทันใด
การทดลองกลุ่มเกสตัลท์
เพื่อที่จะได้เข้าใจวิธีการแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้เกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็น ซึ่งจะยกตัวอย่างการทดลองของโคล์เลอร์ ระหว่างปี ค.ศ. 1913-1917 ซึ่งทดลองกับลิงชิมแปนซี ซึ่งการทดลองครั้งแรกเป็นการทดลองในเยอรมัน แต่ต่อมาเข้าได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่อเมริกาการทดลองส่วนใหญ่ระยะหลังจึงเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการในประเทศอเมริกา
ขั้นตอนการทดลอง
            การทดลองของเขาครั้งแรกมีจุดประสงค์เพราะไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ที่กล่าว สัตว์โลกทั่วไปทำอะไรไม่มีแบบแผนหรือระเบียบวิธีใด ๆ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นการเดาสุ่มหรือการลองถูกลองผิด โดยมีการเสริมกำลังเป็นรางวัล เช่น อาหารเป็นแรงจูงใจที่ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ โดยไม่มีกระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้ปัญญา  
          โคลเลอร์ได้สังเกตและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ เพราะมีความเชื่อว่าในสถานการณ์หนึ่ง ถ้ามีเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ในการแก้ปัญหาและปฏิบัติการพร้อม สัตว์และคนสามารถแก้ปัญหาได้โดยการหยั่งเห็นโดยการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ เมือสัตว์ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาโดยการหยั่งเห็นและเห็นช่องทางในสิ่งนั้นได้แล้ว การกระทำครั้งต่อไปจะสามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
            โคลเลอร์ได้ทดลองโดยการขังลิงชิมแปนซี ตัวหนึ่งไว้ในกรงที่ใหญ่พอที่ลิงจะอยู่ได้ภายในกรงมีไม้หลายท่อน มีลักษณะสั้นยาวต่างกันวางอยู่ นอกกรมเขาได้แขวนกล้วยไว้หวีหนึ่งเกินกว่าที่ลิงจะเอื้อมหยิบได้การใช้ท่อนไม้เหล่านั้น บางท่อนก็สั้นเกินไปสอยกล้วยไม่ถึงเหมือนกัน มีบางท่อนยาวพอที่จะสอยได้ ในขั้นแรกลิงขิมแพนซีพยายามใช้มือเอื้อมหยิบกล้วยแต่ไม่สำเร็จแม้ว่าจะได้ลองทำหลายครั้งเป็นเวลานานมันก็หันไปมองรอบรอบกรง เขย่ากรง ส่งเสียงร้อง ปีนป่ายและทำทุกอย่างที่จะช่วยให้ได้กินกล้วย แต่เมื่อไม่ได้ผลไม่สามารถแก้ปัญหาได้มันหันมาลองจับไม้เล่นแบะใช้ไม้นั้นสอยกล้วยแต่เมื่อไม่ได้ผล ไมสามารถจะแก้ปัญหาได้ มันหันมาลองจับไม้อันอื่นเล่น และใช้ไม้นั้นสอยกล้วย การกระทำเกิดขึ้นเร็วและสมบูรณ์ ไม่ได้ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ เลยในที่สุดมันก็สามารถใช้ไม้สอยกล้วยมากินได้  วิธีการที่ลิงใช้แก้ปัญหานี้ โคล์เลอร์เรียกพฤติกรรมนี้ว่าเป็นการหยั่งเห็น เป็นการมองเห็นช่องทางในการแก้ปัญหาโดยลิงชิมแพนซีได้มีการรับรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างไม้สอย กล้วยที่แขวนอยู่ข้างนอกกรงและสามารถใช้ไม้นั้นสอยกล้วยได้เป็นการนำไปสู่เป้าหมาย
กระบวนการแก้ปัญหาของลิงชิมแพนซีมีดังนี้
            1. วิธีการแก้ปัญหาโดยการหยั่งเห็นจะเกิดขึ้นทันทีทันใดเหมือนความกระจ่างแจ้งในใจ
            2. การเรียนรู้การหยั่งเห็นเป็นการที่ผู้เรียนมองเห็นรับรู้ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ ไม่ใช่เป็นการตอบสนองของสิ่งเร้าเพียงอย่างเดียว
            3. ความรู้เดิมของผู้เรียน ประสบการณ์ของผู้เรียนมีส่วนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการหยั่งเห็นในเหตุการณ์ที่ประกอบขึ้นเป็นปัญหาและช่วยให้ การหยั่งเห็นเกิดขึ้นเร็ว
การนำทฤษฎีประยุกต์ในการเรียนการสอน
            การนำทฤษฎีประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน นักจิตวิทยากลุ่มนี้คิดว่า ในการเรียนรู้ของคนเราเป็นการเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็นซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และคิดได้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ปัญหาก็แจ่มชัดขึ้นเอง เนื่องจากการเห็นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ของปัญหามีหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็นดังนี้
            1. การหยั่งเห็นจะขึ้นอยู่กับการจัดสภาพที่เป็นปัญหา ประสบการณ์เดิมแม้จะมีความหมายต่อการเรียนรู้ แต่การหยั่งเห็นนั้นให้เป็นระเบียบ และสามารถจัดส่วนของสถานการณ์นั้นให้เป็นระเบียบ มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
            2. เมื่อสามารถแก้ปัญหาได้ครึ่งหนึ่ง คราวต่อไปเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีกผู้เรียนก็จะสามารถนำวิธีการนั้นมาใช้ในทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดพิจารณาใหม่
            3. เมื่อค้นพบลู่ทางในการแก้ปัญหาครั้งก่อนแล้วก็อาจนำมาดัดแปลงใช้กับสถานการณ์ใหม่ และรู้จักการมองปัญหา เป็นส่วนเป็นตอนและเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้อาจนำไปใช้เพื่อการพัฒนาพฤติกรรม คือ การเน้นให้บุคคลได้มีเสรีภาพ เลือกวิถีชีวิตตามความต้องการและความสนใจ ให้เสรีภาพในการคิด การทำเน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นให้บุคคลมองบวกในตน ยอมรับตนเอง และนำส่วนดีในตนเองมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ รักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง สร้างสรรค์สิ่งดีให้ตนเอง ซึ่งเป็นฐานทางใจให้มองบวกในคนอื่น ยอมรับคนอื่นและสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่ผู้อื่นและสังคม กับทั้งมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย
สรุป
            หลักความเชื่อของเกสตัลท์ดังกล่าว มีความทันสมัยและเป็นที่ยอมรับมากในปัจจุบันสำหรับในประเทศไทยของเราเองได้มีการตื่นตัวกันมากที่จะนำแนวคิดนี้มาสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อแก้ปัญหาสังคมในบ้านเมืองเราขณะนี้ โดยนักการศึกษาส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า หากเรามีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพสูง แม้จะเผชิญกับความยุ่งยากในการนำทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ แม้มีอุปสรรคมากมายต่อการพัฒนาประเทศ แต่ประชากรที่มีคุณภาพน่าจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ด้วยวิริยะอุตสาหะ ด้วยความหาญฉลาดแห่งปัญญา และด้วยคุณธรรมความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม ซึ่งกลุ่มมนุษย์นิยมเชื่อว่า ถ้าเด็กถูกเลี้ยงในบรรยากาศของความรักความอบอุ่ม เขาจะมีความรู้สึกมั่งคงปลอดภัย และจะเจริญเติบโตเป็นผู้เป็นผู้ใหญ่ที่มองโลกในแง่ดี มีน้ำใจให้คนอื่น ถ้าเด็กถูกเลี้ยงให้รู้จักช่วยตัวเองตามวัย ตามความถนัด ความสนใจ และตามบทบาทหน้าที่ภายใต้การให้กำลังใจจากผู้ใหญ่ เด็กนั้นจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ในสังคมกลุ่มมนุษย์นิยมมีความเชื่อว่าการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนเรานั้นจะทำได้โดยให้คนมองเห็นส่วนดีในตนเอง และเกิดแรงจูงใจในการนำส่วนดีมาใช้ประโยชน์ ให้รู้จักวางแผนชีวิตและสร้างพลังใจให้ดำเนินชีวิตไปตามแผน ให้ได้มีโอกาสศึกษาตนเองในแง่มุมต่าง ๆ และให้ได้แนวทางในการเรียนรู้บุคคลอื่น ๆ ที่แวดล้อมตนเพื่อปรับตนในการอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างได้ประสิทธิภาพ เกิดการยอมรับตนเอง ยอมรับคนอื่น เมื่อยอมรับตนเองก็เกิดความเชื่อมั่น ปฏิบัติตนเป็นธรรมชาติ ลดความก้าวร้าว และความเก็บกดลงไปได้ เมื่อยอมรับคนอื่นก็จะทำให้มองโลกในแง่ดี ทำให้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข


ฟรอยด์



  • ทฤษฎีการพัฒนาการของ Freud (Psychosexual developmental stage)
         ซิกมุนต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นนักจิตวิทยาชาวยิว เป็นผู้ที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านการพัฒนา Psychosexual โดยเชื่อว่าเพศหรือกามารมณ์ (sex) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของมนุษย์     
           ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรม คือ สัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) 2 ลักษณะคือ
                1. สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต (eros = life instinct)
                2. สัญชาตญาณเพื่อความตาย (thanatos = death instinct)
  • หลักพัฒนาการตามแนวคิดทฤษฎีนั้นเป็นอย่างไร 
        พัฒนาการทางความต้องการทางเพศและบุคลิกภาพของบุคคลต้องอาศัยการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเป็นลำดับขั้นจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ถาวรในที่สุด
        พัฒนาการแต่ละขั้นเป็นการตอบสนองความสุข ความพึงพอใจของตนเอง บริเวณที่ไวต่อความรู้สึก เรียกว่า อีโรจีเนียส ( Erogenous Zone ) มีอยู่ด้วยกัน 5 ขั้น
  • การนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ 
        ในการจัดการเรียนการสอนของวัยเด็กที่มีการเจริญเติบโตอยู่ตลอด ผู้สอนต้องสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างละเอียดและควรชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเพศชายและเพศหญิง



วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เพียเจต์


                                                                                     
                                                              ทฤษฎีพัฒนาการของ Piaget ( Cognitive Development Theory )

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์
เพียเจต์ (Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการอย่างไร ทฤษฎีของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการกระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น เพียเจต์สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม

ทฤษฎีการเรียนรู้

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ มีสาระสรุปได้ดังนี้ (Lall and Lall, 1983:45-54)

พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้
1.               ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไขว่คว้า การเคลื่อนไหว การมอง การดู ในวัยนี้เด็กแสดงออกทางด้านร่างกายให้เห็นว่ามีสติปัญญาด้วยการกระทำ เด็กสามารถแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด เด็กจะต้องมีโอกาสที่จะปะทะกับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพัฒนาการด้านสติปัญญาและความคิดในขั้นนี้ มีความคิดความเข้าใจของเด็กจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น สามารถประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือ และสายตา เด็กในวัยนี้มักจะทำอะไรซ้ำบ่อยๆ เป็นการเลียนแบบ พยายามแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูก เมื่อสิ้นสุดระยะนี้เด็กจะมีการแสดงออกของพฤติกรรมอย่างมีจุดมุ่งหมายและสามารถแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการแต่กิจกรรมการคิดของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่เฉพาะสิ่งที่สามารถสัมผัสได้เท่านั้น
2.               ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage) ขั้นนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี แบ่งออกเป็นขั้นย่อยอีก 2 ขั้น คือ
-- ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กอายุ 2-4 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีเหตุผลเบื้องต้น สามารถจะโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ หรือมากกว่ามาเป็นเหตุผลเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่เหตุผลของเด็กวัยนี้ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ เพราะเด็กยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง คือถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ และมองไม่เห็นเหตุผลของผู้อื่น ความคิดและเหตุผลของเด็กวัยนี้ จึงไม่ค่อยถูกต้องตามความเป็นจริงนัก นอกจากนี้ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับเบื้องต้น เช่น เข้าใจว่าเด็กหญิง 2 คน ชื่อเหมือนกัน จะมีทุกอย่างเหมือนกันหมด แสดงว่าความคิดรวบยอดของเด็กวัยนี้ยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่พัฒนาการทางภาษาของเด็กเจริญรวดเร็วมาก

-- ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ นึกออกเองโดยไม่ใช้เหตุผล (Intuitive Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็ก อายุ 4-7 ปี ขั้นนี้เด็กจะเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รวมตัวดีขึ้น รู้จักแยกประเภทและแยกชิ้นส่วนของวัตถุ เข้าใจความหมายของจำนวนเลข เริ่มมีพัฒนาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ แต่ไม่แจ่มชัดนัก สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยไม่คิดเตรียมล่วงหน้าไว้ก่อน รู้จักนำความรู้ในสิ่งหนึ่งไปอธิบายหรือแก้ปัญหาอื่นและสามารถนำเหตุผลทั่วๆ ไปมาสรุปแก้ปัญหา โดยไม่วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเสียก่อนการคิดหาเหตุผลของเด็กยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตนรับรู้ หรือสัมผัสจากภายนอก
3.               ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete Operation Stage) ขั้นนี้จะเริ่มจากอายุ 7-11 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้ เด็กวัยนี้สามารถที่จะเข้าใจเหตุผล รู้จักการแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ สามารถที่จะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความคงตัวของสิ่งต่างๆ โดยที่เด็กเข้าใจว่าของแข็งหรือของเหลวจำนวนหนึ่งแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างไปก็ยังมีน้ำหนัก หรือปริมาตรเท่าเดิม สามารถที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของส่วนย่อย ส่วนรวม ลักษณะเด่นของเด็กวัยนี้คือ ความสามารถในการคิดย้อนกลับ นอกจากนั้นความสามารถในการจำของเด็กในช่วงนี้มีประสิทธิภาพขึ้น สามารถจัดกลุ่มหรือจัดการได้อย่างสมบูรณ์ สามารถสนทนากับบุคคลอื่นและเข้าใจความคิดของผู้อื่นได้ดี
4.               ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal Operational Stage) นี้จะเริ่มจากอายุ 11-15 ปี ในขั้นนี้พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้เป็นขั้นสุดยอด คือเด็กในวัยนี้จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ความคิดแบบเด็กจะสิ้นสุดลง เด็กจะสามารถที่จะคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่ สามารถที่จะคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ สามารถที่จะตั้งสมมุติฐานและทฤษฎี และเห็นว่าความเป็นจริงที่เห็นด้วยการรับรู้ที่สำคัญเท่ากับความคิดกับสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ เด็กวัยนี้มีความคิดนอกเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างและมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมพัฒนาการทางการรู้คิดของเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเพียเจต์ ได้ศึกษาไว้เป็นประสบการณ์ สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม มี 6 ขั้น ได้แก่

1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute Differences) เด็กเริ่มรับรู้ในความแตกต่างของสิ่งของที่มองเห็น
2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition) ขั้นนี้เด็กรู้ว่าของต่างๆ มีลักษณะตรงกันข้ามเป็น 2 ด้าน เช่น มี-ไม่มี หรือ เล็ก-ใหญ่
3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete Degree) เด็กเริ่มรู้จักคิดสิ่งที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างปลายสุดสองปลาย เช่น ปานกลาง น้อย
4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation) เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่น บอกถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้
5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function) ในขั้นนี้เด็กจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง
6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact Compensation) เด็กจะรู้ว่าการกระทำให้ของสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างทัดเทียมกัน
ภาษาและกระบวนการคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่
กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้
1.               การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
2.               การปรับและจัดระบบ (accommodation) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากันเป็นระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
3.               การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล
การนำไปใช้ในการจัดการศึกษา / การสอน
เมื่อทำงานกับนักเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปํญญาของนักเรียนดังต่อไปนี้
  • นักเรียนที่มีอายุเท่ากันอาจมีขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการของเขา นักเรียนแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ 2 แบบคือ
     
  • ประสบการณ์ทางกายภาพ (physical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนแต่ละคนได้ปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่าง ในสภาพแวดล้อมโดยตรง
    ประสบการณ์ทางตรรกศาสตร์ (Logicomathematical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้พัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาให้ความคิดรวบยอดที่เป็นนามธรรม
     
  • หลักสูตรที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
    --เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนโดยต้องเน้นให้นักเรียนใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด
    --เสนอการเรียนการเสนอที่ให้ผู้เรียนพบกับความแปลกใหม่
    --เน้นการเรียนรู้ต้องอาศัยกิจกรรมการค้นพบ
    --เน้นกิจกรรมการสำรวจและการเพิ่มขยายความคิดในระหว่างการเรียนการสอน
    --ใช้กิจกรรมขัดแย้ง (cognitive conflict activities) โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนอกเหนือจากความคิดเห็นของตนเอง
     
  • การสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนควรดำเนินการดังต่อไปนี้
    --ถามคำถามมากกว่าการให้คำตอบ
    --ครูผู้สอนควรจะพูดให้น้อยลง และฟังให้มากขึ้น
    --ควรให้เสรีภาพแก่นักเรียนที่จะเลือกเรียนกิจกรรมต่าง ๆ
    --เมื่อนักเรียนให้เหตุผลผิด ควรถามคำถามหรือจัดประสบการณ์ให้นักเรียนใหม่ เพื่อนักเรียนจะได้แก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตนเอง
    --ชี้ระดับพัฒนาการทางสติปัญญาของนักเรียนจากงานพัฒนาการทางสติปัญญาขั้นนามธรรมหรือจากงานการอนุรักษ์ เพื่อดูว่านักเรียนคิดอย่างไร
    --ยอมรับความจริงที่ว่า นักเรียนแต่ละคนมีอัตราพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน
    --ผู้สอนต้องเข้าใจว่านักเรียนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในระดับความคิดขั้นต่อไป
    --ตระหนักว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเพราะจดจำมากกว่าที่จะเข้าใจ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่แท้จริง (pseudo learning)
     
  • ในขั้นประเมินผล ควรดำเนินการสอนต่อไปนี้
    --มีการทดสอบแบบการให้เหตุผลของนักเรียน
    --พยายามให้นักเรียนแสดงเหตุผลในการตอนคำถามนั้น ๆ
    --ต้องช่วยเหลือนักเรียนทีมีพัฒนาการทางสติปัญญาต่ำกว่าเพื่อร่วมชั้น